Saturday, May 10, 2008

ใครคือจีนแต้จิ๋ว?

เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะแยกว่าใครเป็นใคร?
ระหว่าง คนไทย-คนลาว-คนฟิลิปปินส์,
คนสวีเดน-คนนอร์เวย์-คนฟินแลนด์,
คนเนปาล-คนอินเดีย-คนศรีลังกา,
คนจีน-คนเกาหลี-คนญี่ปุ่น
เพราะบุคลิกลักษณะภายนอกของคนแต่ละกลุ่มนั้นคล้ายคลึงกันมาก
จึงมักมีเรื่องเล่าล้อกันเล่นถึงวิธีจำแนกคนแต่ละเชื้อชาติให้ได้ฟังกันอยู่บ่อยๆ
เช่น การบอกใครเป็นใคร
ระหว่างลูกหลานไวกิ้ง 3 ประเทศ
คือ สวีเดน นอร์เวย์ และฟินแลนด์
มีวิธีง่ายๆ คือ "ให้นำคนทั้ง 3 ชาติเข้าไปไว้ในคอกแกะ อันดับแรกที่วิ่งออกมาเป็นคนสวีเดน
อันดับ 2 คือคนนอร์เวย์
อันดับ 3 คือแกะ"

และเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น
สำหรับการแยกแยะที่เล็กลงไป
ว่าในคนชาติเดียวกันนั้นว่าเขาเป็นคนถิ่นใด?
กลุ่มตัวอย่างที่ใกล้ชิดและคุ้นเคยที่สุดก็คือ "คนจีน"
ซึ่งที่จริงคือลูกหลานจีนโพ้นทะเล
เราท่านจะทราบได้อย่างไรว่า
คนจีนที่อยู่ข้างบ้านท่าน
คนจีนที่เป็นเพื่อนร่วมงานของท่าน
คนจีนที่เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นวงศาคณาญาติกับท่าน
คนจีนที่เป็น...
เขาเหล่านั้นเป็นจีนท้องถิ่นใด?
แต้จิ๋ว
ไหหลำ
ฮากกา (แคะ)
กวางตุ้ง
หรือฮกเกี้ยน
(คนจีน 5 ถิ่นที่มีจำนวนมากในประเทศไทย) ฯลฯ

หรือในมุมกลับกันหากไปถามลูกหลานจีนในเมืองไทยว่า
ตนเองเป็นคนจีนถิ่นใด?
มีความแตกต่างกับจีนถิ่นอื่นอย่างไร?
หลายท่านอาจคิดถึงสิ่งที่ช่วยตอบคำถามในเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้นคือ
"ภูมิลำเนาเดิม-ภาษา"

โดยเฉพาะคำถามแรก
คนจำนวนมากจะบอกได้ว่า
ตนเองเป็นจีนถิ่นไหนอย่างสบาย
จากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษ
เช่น คนจีนไหหลำมาจากเกาะไหหลำ
คนฮกเกี้ยนมาจากมณฑลฮกเกี้ยน (หรือฟูเจี้ยน)
คนแต้จิ๋วมาจากเมืองแต้จิ๋ว และซัวเถา เป็นต้น


แต่ลูกหลานจีนบางครอบครัว คำว่า
"น่าจะเป็น...(แต้จิ๋ว, ไหหลำ, กวางตุ้ง ฯลฯ)"
อาจเป็นสิ่งจำเป็น
เพราะข้อมูลบางส่วนตกหายไประหว่างวันเวลาแล้ว

ส่วนปัจจัยเรื่องของ "ภาษา"
วันนี้ความสามารถในการใช้ "ภาษาถิ่น"
ของหลายครอบครัวกำลังลดลง
ลูกจีนที่สามารถ ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ได้เริ่มมีจำนวนลดลง
บางคนเหลือแค่ฟังออก พูดได้
เขียน-อ่านไม่ได้

หรือบางคนฟังพอเข้าใจแต่พูดไม่ได้

จนถึงขั้นแม้แต่ฟังไม่ได้ก็มี


แม้จะมีโรงเรียนสอนภาษาจีนมากมายในประเทศไทย แต่ภาษาที่สอนนั้นเป็นภาษาจีนกลาง
หรือภาษาราชการของคนทั้งประเทศจีน
เท่าที่ผู้เขียนทราบยังไม่มีโรงเรียนสอนภาษาแต้จิ๋ว
ภาษาฮากกา ภาษาไหหลำ หรือภาษาฮกเกี้ยน ในประเทศไทย มีเพียงภาษากวางตุ้งเท่านั้น ที่มีการเปิดสอนอยู่บ้าง

ส่วนคำถามถึงความแตกต่างระหว่างถิ่นของตนเอง
กับจีนถิ่นอื่นๆ นั้น อย่าว่าแต่คนเชื้อสายอื่นๆ เลย
แม้แต่คนจีนด้วยกันเอง
หรือคนถิ่นนั้นๆ เอง
ก็ยังยากจะหาคำอธิบายให้กระจ่างแก่ตนเอง
เพราะในความแตกต่างของภูมิลำเนา ภาษา ของแต่ละถิ่น แต่ภาพวัฒนธรรมประเพณีของจีนในเมืองไทย
ที่ปรากฏคลับคล้ายคลับคลึงกัน
เช่น การดื่มชา
การไหว้เจ้าในวันตรุษวันสารท
การไหว้บรรพบุรุษในวันเช็งเม้ง
การใช้สีแดงในงานมงคลและสีขาวในงานศพ ฯลฯ
แต่เมื่อถึงวันตายของบรรพชน
มีการเชิญพระจีนมาสวดกงเต๊ก
หากพอครบ 7 วัน กลับใช้วิธีเผาศพแทนการฝัง
หรือขณะที่ไหว้เจ้าในวันตรุษสารท
หากลูกหลานจีนจำนวนไม่น้อยยังไปวัดทำบุญตักบาตร
นอกจากนี้แม้หลายบ้านมีตีจูเอี๊ยะ (เจ้าที่แบบจีน) อยู่ที่ชั้นล่าง แต่ชั้นบนกลับมีห้องพระแบบไทย และมีศาลพระภูมิอยู่หน้าบ้าน ฯลฯ

เป็นความเหมือนอันเนื่องจากลัทธิขงจื๊อ ลัทธิเต๋า และศาสนาพุทธมหายาน-ดีเอ็นเอจากบรรพชน
ผสมกับ ดิน น้ำ อากาศของสยามประเทศ บ่มเพาะจนปรากฏเป็นภาพแห่งวิถีชีวิตลูกหลานจีนในเมืองไทยอย่างที่เห็น

อย่างไรก็ตาม ภาพของกิจกรรมที่ดูเหมือนเหล่านี้
มีความแตกต่างทางด้านโลกทรรศน์
พื้นฐานความคิด จิตวิญญาณ ฯลฯ
ของถิ่นผสมผสานอยู่ด้วย
นิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนกุมภาพันธ์
เดือนที่มีเทศกาลสำคัญ
(ตรุษจีน และหยวนเซียว) ของคนจีน
จึงขอประเดิมเรื่องราวของ "จีนแต้จิ๋ว"
จีนโพ้นทะเลกลุ่มใหญ่ในประเทศไทย
ให้อ่านกันอย่างต่อเนื่อง
โดยการค้นคว้า รวบรวมข้อมูลจากเอกสารภาษาจีน และจากการสอบถามคนจีนแต้จิ๋วในเมืองจีน-เมืองไทย
กลั่นกรองเป็นบทความชื่อว่า
"แต้จิ๋ว: จีนกลุ่มน้อยผู้ยิ่งใหญ่"
ของ อาจารย์ถาวร สิกขโกศล
ดังข้อความบางส่วนของบทความนี้
ที่อธิบายเขียนความแตกต่างของคนแต้จิ๋วไว้ว่า

"ทั่วโลกยอมรับว่าคนจีนขยัน
ประหยัด เชี่ยวชาญธุรกิจการค้า จนมีสมญาตามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงขนานให้ว่า "พวกยิวแห่งบูรพทิศ"
แต่ปัจจุบันในประเทศจีนยกให้
คนแต้จิ๋วเป็น "ยิวแห่งประเทศจีน"...
จีนแคะเป็นคนยึดมั่นในอุดมการณ์ "ยอมหักไม่ยอมงอ"
แต่จีนแต้จิ๋ว "ไม่ยอมงอไม่ยอมหัก หนีไปตั้งหลักแล้วกลับมาเอาคืน"
เรื่องเงินทองและการค้าจีนแต้จิ๋วมักจะยอม "เสียกำได้กอบ"
แต่จีนแคะ "ไม่ยอมเสียกำและไม่ยอมเสียกอบ"..."

ซึ่งต้องเรียนว่าสำหรับท่านผู้อ่าน
ที่เป็นลูกหลานจีนแต้จิ๋ว
โปรดหาซื้ออ่านเพราะบทความนี้
และตอนต่อๆไปที่จะลงอย่างต่อเนื่องในนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" จะทำให้ท่านยึดอกภูมิใจกับความเป็นจีน
"แต้จิ๋ว" ของตนเองได้โดยมีเหตุผลรับรอง
ทำให้ท่านรู้จักกับความเป็น "แต้จิ๋ว"
ในตัวเองและบรรพบุรุษมากขึ้น
ส่วนลูกหลานจีนถิ่นอื่น
และคนเชื้อสายอื่นๆ ได้โปรดช่วยอุดหนุน
ด้วยบทความนี้คงช่วยในการวิเคราะห์
กลับไปสู่เชื้อสายของแต่ละท่านได้บ้าง
หรืออย่างน้อยที่สุดคงช่วยให้เข้าใจ
เพื่อนชาวจีนแต้จิ๋วของท่านได้ไม่มากก็น้อย
เป็นการรู้จักเข้าใจกันจริงๆ
แบบที่เขาเป็น
ไม่ใช่แบบที่สังคมพยายามทำให้เป็น

โดย: วิภา จิรภาไพศาล
ที่มา: นิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม"วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10919

Thursday, May 8, 2008

มานับญาติกัน

การนับญาติของคนจีน
มักทำให้ลูกหลานจีนในไทยงงเสมอๆ
เพราะเด็กๆ ก็จะงง
โดยเฉพาะครอบครัวที่มี
มีญาติพูดกันหลายสำเนียง
เช่น ข้างพ่อเป็นจีนแคะ
ข้างแม่เป็นแต้จิ๋ว
แต่ยังไงๆ ก็เป็น กากีนั้ง (แต้จิ๋ว) เหมือนกัน
กากีนั้ง แปลว่า คนกันเอง
Sino-Thai ในเมืองไทย
ส่วนมากจะเป็นจีนแต้จิ๋ว
แต่สำหรับผม ถือว่าเป็นจีนแคะ
สังเกตจากการเรียกญาติเป็นภาษาแคะ
แต่อาม่า ที่เป็น แม่ของแม่
ดันเป็นแต้จิ๋วเพียงคนเดียว
แถมยังอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เด็กๆ
เลยทำให้ผมไม่สามารถพูด
ภาษาจีนแคะกับแต้จิ๋วได้
เพราะอาม่าใช้สองสำเนียงตลอดเวลา
ทำให้พอฟังได้ แต่แยกและพูดไม่ออก
ว่าเป็นสำเนียงของจีนอะไร
และ่ด้วยตั้งแต่เด็กจนโต
ครอบครัวมิได้อยู่ในชุมชนของคนจีน
เช่น เยาวราช หรือ สำเพ็ง
ทำให้ภาษาหลักที่ใช้ ก็คือภาษาไทย

ครอบครัวของผม(จีนแคะ)
พ่อ เรียกว่า ปะป๊า หรือ ป่าป๊า
แม่ เรียกว่า หมะม้า แต่เราเรียกแม่ ว่า แมะแม้
พี่ชาย เรียกว่า ก่อก๊อ หรือ ก๊อ
พี่สาว เรียกว่า เจ่เจ๊ หรือ เจ๊
ปู่และตา เรียกว่า อา๊ก๊ง
ย่าและยาย เรียกว่า อาม่า
ทวดชาย เรียกว่า อากุ๊งไท้
ทวดหญิง เรียกว่า อาไท้
ลุง เรียกว่า อาปัก ป้าสะใภ้ เรียกว่า ปักแม้
ป้า เรียกว่า อากู๊
อาชาย เรียนกว่า อาสุก
อาหญิง เรียกว่า อากู๊
น้าชาย เรียกว่า อาคิ้ว น้าสะใภ้ เรียกว่า คิ้วแม้
น้าผู้หญิง เรียกว่า อาหยี

ส่วนคนจีนแต้จิ๋ว
พ่อ เรียกว่า ป่าป๊า ป๊ะป๋า ป๊ะป๊า แล้วแต่จะเรียก
แม่ เรียกว่า หม่าม้า
พี่ชาย เรียกว่า อาเฮีย
พี่สาว เรียกว่า อาเจ๊
น้องชาย เรียกว่า อาตี๋
น้องสาว เรียกว่า อาหมวย
ลูกเขย เรียกว่า เกี้ยไส่
ลูกสะใภ้ เรียกว่า ซิมปู๋
ถ้าแต่งงานได้ลูกสะใภ้เข้าบ้าน จะเรียกว่า ฉั่วซิมปู๋
น้องๆ เรียก พี่เขยว่า อานึ้ง
เรียกพี่สะใภ้ว่า อาซ้อ
เรียกน้องเขยว่า ม่วยไส่
เรียกน้องสะใภ้ว่า อากิ๋ม
ปู่ เรียกว่า อา๊กง
ตา เรียกว่า หวั่วกง แต่หลายบ้านนิยมเรียกสั้นๆว่า อากง
ย่า เรียกว่า อาม่า เหมือนจีนแคะ
ยาย เรียกว่า หวั่วม่า เรียกสั้นๆว่า อาม่า
ทวดชาย เรียกว่า อากุ๊งไท้
ทวดหญิง เรียกว่า อาไท้
ลุง (พี่ช่ยพ่อ) เรียกว่า อาแปะ คนไทยชอบเรียกเพี้ยน เป็น อาแป๊ะ
ลุง (พี่ชายแม่หรือญาติข้างแม่่่) เรียกว่า อากู๋
อากู๋ แต่งงาน เรียกภรรยาของอากู๋ว่า อากิ๊ม
น้องชายแม่ ก็เรียกว่า อากู๋ เช่นกัน
อา (น้องชายพ่อ) เรียกว่า อาเจ็ก คนไทยมักเรียกเพี้ยน เป็น เจ๊ก
ป้าสะใภ้ เรียกว่า ปักแม้
พี่สาวหรือน้องสาวแม่ เรียกว่า อาอีู๊๊
พี่สาวหรือน้องสาวพ่อ เรียกว่า อาโกว
ลูก เรียกว่า เกี้ย
หลาน เรียกว่า ซุง
ส่วนคำว่า อา คล้ายเป็นคำสุภาพ
มักใช้นำหน้าคำเรียกคนหรือชื่อคน